บางมูลนาก เมืองน่าอยู่
เพราะเราอยู่บ้านเดียวกันชุมชนเล็กๆ อายุกว่า 120 ปี ที่ประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย เป็นชุมชนที่ผูกพัน กับสายน้ำน่าน การปลูกข้าว หลอมรวมเป็นชุมชนการค้าข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย มีความน่ารัก มีเสน่ห์ มีเรื่องเล่า ที่พวกเราชาว บางมูลนาก จะร่วมกันสืบสาน รักษา ฟื้นฟูมรดก ทางความทรงจำ เหล่านี้ไว้ให้กับลูกหลานของพวกเรา
 พิพิธภัณฑ์ ชาวบางมูลนาก 
image
อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ 
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์
บางมูลนาก เมืองน่าอยู่ สวยจริงๆ มันสุดยอดมาก สวยจริงๆ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เอ่ยถึง "ตลาดฟื้นอดีต อ.บางมูลนาก" เมืองน่าอยู่ สวยงาม ย้อนยุค หาดูได้ยาก ทำให้ผมนึกถึงความสุขยามเด็กๆบรรยากาศงดงามร่มเย็นหาดูได้ยากยังเหลืออยู่ที่นี่ ขอให้พวกเราโปรดช่วยกันรักษาสมบัติที่มีค่านี้ ให้คงอยู่กับประเทศเรา เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องชาว อ.บางมูลนาก จ.ชาวพิจิตร

27 กุมภาพันธ์ 2565 ณ.อาคารพิพิธภัณฑ์ ชาวบางมูลนาก "ตลาดฟื้นอดีด บางมูลนาก"  
 พิพิธภัณฑ์ ชาวบางมูลนาก  

image
จุดเริ่มต้นก้าวเล็กๆจากมูลนิธิแก้วคุ้มครอง มีโครงการซ่อมแซมศาลเจ้าริมน้ำ และปรับภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ เพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะเมื่อดำเนินการไปแล้ว ได้รับเกียติจาก 
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี
ได้ตั้งชื่อบริเวณนี้ ซึ่งเป็นอดีตย่านตลาดเก่าแก่มีกิจการ ร้านค้าขายสินค้าอย่างหนาแน่นภายในชุมชน อ.บางมูลนากตั้งชื่อว่า "ตลาดฟื้นอดีต อ.บางมูลนาก" ต่อมาได้รับความร่วมมือจากชุมชน และหน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยกันพัฒนาพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์วิถีชุมชน แบบแผนการดำเนินชีวิต ขนมธรรมเนียม ประเพณี ศิลปะวัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัธทา รวมทั้งรูปแบบอาคารสถาปัตยกรรม ให้คงอยู่สืบไปเพื่อเยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาหา ข้อมูล เรียนรู้อดีตของชาวบางมูลนากได้ที่..พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก
 พิพิธภัณฑ์ ชาวบางมูลนาก 

image
 พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชาวบางมูลนาก
บางมูลนาก เมืองน่าอยู่ เพราะเราอยู่บ้านเดียวกัน อำเภอบางมูลนาก อำเภอเก่าแก่แห่งหนึ่งใน จังหวัดพิจิตร มีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับแม่น้ำน่านในการหล่อเลี้ยงผู้คนจากการทำนาข้าวแปรรูป
และส่งให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ ชุมชนบางมูลนากเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะชุมชนการค้าข้าวในภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์กอปรกับมีเส้นทางรถไฟสายเหนือผ่าน ส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนบางมูลนากเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนหลากหลายอพยพเข้ามาอยู่ โดยเฉพาะชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากและมีบทบาทต่อสังคมมาจนกระทั่งปัจจุบันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชุมชนบางมูลนากอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม และพลวัตการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ และความต้องการใช้สอยตามยุคสมัย การปรับตัวโดยไม่ละทิ้งรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตน แต่ได้นำมาหลอมรวมเข้ากับสิ่งใหม่นับเป็นการพัฒนาเชิงอนุรักษ์โดยคำนึงถึง “พลวัตทางวัฒนธรรม” ซึ่งทำให้เหมาะสมสอดคล้องและเดินหน้าไปกับสังคมร่วมสมัยได้
 พิพิธภัณฑ์ ชาวบางมูลนาก 

นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาบางมูลนากเมืองน่าอยู่ ณ ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก 

ขอขอบพระคุณ ชาวบางมูลนาก ทุกท่าน ที่ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี และคณะอย่างอบอุ่น

30 มกราคม 2566 ณ.อาคารพิพิธภัณฑ์ ชาวบางมูลนาก
"ตลาดฟื้นอดีด บางมูลนาก"  

มูลนิธิแก้วคุ้มครอง ภายใต้การนำของ คุณเมตตา สุขสวคนธ์ ประธานมูลนิธิ และคุณ เขต เส็งพานิช รองประธานมูลนิธิขอกราบขอบพระคุณนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเยือนตลาดบางมูลนาก ชมตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก และ สักการะเจ้าพ่อแก้ว 

image
ยินดีต้อนรับทุกท่านที่มาเยือนบางมูลนากเมืองน่าอยู่ ด้วยหวังว่าการที่ทุกท่านมาเยี่ยมเยือน ล้วนก่อให้เกิดผลดีกับ บางมูลนากของเรา
image

ขอบคุณในการต้อนรับอย่างอบอุ่น ชื่นชม อุดมการณ์ ความคิดของกรรมการมูลนิธิฯ และประชาชนทุก ๆ คน ทั้งในพื้นที่ตลาดและนอกพื้นที่ ช่วยกัน รักษามรดกเหล่านี้ ไว้ให้นานเท่านาน ไปยังคนรุ่นหลังได้ภูมิใจ ขอบคุณท่านองคมนตรีเกษมฯ และทุกคนด้วยใจจริง
ด้วยรักและห่วงใยเสมอ
รัก
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา/30 มกราคม 2566

image
มากราบไหว้เจ้าพ่อแก้วบางมูลนากเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ มาเยือนตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก
image
มาชมตลาดเก่าที่ยังมีชีวิต มารับประทานอาหารอร่อยของบางมูลนาก มาชมวิถีชีวิตที่มีน้ำใจไมตรีต่อกัน

ชุมชนบางมูลนาก วิถีแห่งข้าว สายน้ำ และผู้คน

อำเภอบางมูลนาก อำเภอเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดพิจิตร จากพระราชหัตถเลข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2444 ได้ทรงกล่าวไว้ว่า
“บางมูลนากมีบ้านเรือน และตลาด ผู้คนหนาแน่นเกินที่คาดหมายเป็นอันมาก”
นอกจากนี้อำเภอของเรายังสัมพันธ์กับแม่น้ำน่านที่หล่อเลี้ยงผู้คน จากการทำนา แปรรูปข้าว และส่งข้าวให้ผู้คนทั่วประเทศ ชุมชนบางมูลนากจึงเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะชุมชนการค้าข้าวในภาคเหนือตอนล่าง
เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับการเปิดเส้นทางรถไฟสายเหนือในปี พ.ศ. 2450 ทำให้เศรษฐกิจของอำเภอเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถขนส่งข้าว โดยผ่านทางลำน้ำน่านและทางรถไฟ ทำให้ผู้คนอพยพเข้ามาตั้งรกรากจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวจีน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ส่งผลให้ชาวบางมูลนากมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข 
แต่การการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ  เช่น การสร้างเขื่อนเจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2500  และการสร้างถนนหมายเลข 117 ในปี พ.ศ. 2525 ทำให้การคมนาคมในชุมชนเปลี่ยนไป ชุมชนบางมูลนากจึงค่อย ๆ ซบเซาลง บุตรหลานชาวบางมูลนาก ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในเมืองใหญ่ ร้านค้าปิดตัว จำนวนเด็กและเยาวชนลดน้อยลง ใกล้ที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ชาวบางมูลนากและมูลนิธิแก้วคุ้มครอง จึงเห็นว่าเราควรร่วมกันรักษา อนุรักษ์ เอกลักษณ์วัฒนธรรม และความเชื่อของชุมชน เพื่อเป็นมรดกทางความทรงจำให้แก่ลูกหลาน เพื่อให้ชุมชนของเราสามารถเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้ช่วยกันพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำน่าน ซึ่งในอดีตกว่าร้อยปี พื้นที่บริเวณนี้เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ 
โดยมีศาลเจ้าพ่อแก้วเป็นศูนย์กลาง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าของบ้าน หลายหลังมอบอาคารให้มูลนิธิแก้วคุ้มครอง พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ ท้องถิ่น และใช้ศิลปะมาเชื่อมโยงกลุ่มคนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น นอกจากนี้เรายังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ตั้งชื่อพื้นที่บริเวณนี้ว่า “ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก”

เราเชื่อว่าพื้นที่ที่ชาวบางมูลนากร่วมกันพัฒนาโดยมีภาครัฐ
ให้การสนับสนุนนั้น จะเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน
ประธานมูลนิธิแก้วคุ้มครอง คุณเมตตา สุขสวคนธ์
คณะผู้จัดทำ เขต เส็งพานิช/ อภิสิทธิ์ ประวัติเมือง/
ประเสริฐ ตระการศิริ/ อัจฉริยา ขำแป้น
ประสานงาน วิลาวรรณ คงสิบ
ให้เสียง ชฎานันท์ สร้อยสุข
ดนตรี ปัณณ์ เส็งพานิช
สร้างสรรค์ ธีระศักดิ์ มะลิวรรณ

Run For Fun ep.4 วิ่งสนุก สุขภาพดี "บางมูลนาก สายน้ำแห่งชีวิต"
รายได้ของการวิ่ง Run For Fun Ep.4 หลังหักค่าใช้จ่ายเข้า พชอ.บางมูลนาก พชอ.บางมูลนาก คือ การทำงานร่วมกันของโรงพยาบาลบางมูลนาก สาธารณสุขอำเภอบางมูลนาก รพ.สต. ในอำเภอบางมูลนาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอบางมูลนาก และ หน่วยประชาสังคมในบางมูลนาก เพื่อให้ประชาชนและชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ไม่ทอดทิ้งกัน
ขอเชิญร่วมกิจกรรม เดิน-วิ่งสนุกสุขภาพดี (RUN For FUN) ครั้งที่ 4 อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร จัดโดย มูลนิธิแก้วคุ้มครอง ร๋วมกับ อำเภอทูบีนัมเบอร์วันอำเภอบางมูลนาก และคณะกรรมการ พชอ.บางมูลนาก ในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566
image
เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ ระยะทาง 3 กิโลเมตร สมัครเพียง 400 บาท
image
เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพระยะทาง 8 กิโลเมตร สมัครเพียง 400 บาท ประเภท Over All 1-5 ชาย-หญิง จะได้รับ “น้องนาก น่ารัก”
image
สมัครแบบ VIP 1,000 บาท เดิน-วิ่งได้ทุกประเภท และได้รับของที่ระลึกพิเศษ "น้องนาก" วางโทรศัพท์ได้
image
สนับสนุนกองทุน รายได้เพื่อสมทบกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) อำเภอบางมูลนาก เป็นกองทุนเพื่อดูแลประชาชนในด้านต่างๆ ภายใต้แนวคิด "คนบางมูลนาก
ไม่ทอดทิ้งกัน"
image
สนใจสมัครได้ที่ สาธารณสุขอำเภอบางมูลนาก โรงพยาบาลบางมูลนาก กรรมการมูลนิธิแก้วคุ้มครอง เพจ Run For Fun สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 24 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ผู้สมัครจะได้รับเสื้อ 1 ตัว และเหรียญที่ระลึกทุกคน

"มัคคุเทศก์น้อย" ช่วยขับเคลื่อนตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก เมืองน่าอยู่
 พลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สามารถสร้างสรรค์และพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ในหลายด้าน หนึ่งในนี้ คือ การเป็น "มัคคุเทศก์น้อย" ช่วยขับเคลื่อนตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก เมืองน่าอยู่ ต้อนรับนักท่องเที่ยว /ติดตามได้ใน "มุมข่าวเยาวชน"

พลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สามารถสร้างสรรค์และพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ในหลายด้าน หนึ่งในนี้คือ การเป็น "มัคคุเทศก์น้อย" ช่วยขับเคลื่อนตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก เมืองน่าอยู่ ต้อนรับนักท่องเที่ยว
สกู๊ป เที่ยวตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากชุมชน
image
"มัคคุเทศก์น้อย" ช่วยขับเคลื่อนตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก เมืองน่าอยู่

รื้อ ฟื้น คืนความทรงจำ จากสถานีรถไฟ ถึงพิพิธภัณฑ์ชาวบางมูลนากและตลาดฟื้นอดีต


แสงแดดเจิดจ้าสาดส่องต้องหมู่เรือนไม้ ส่วนหนึ่งของชุมชนชาวบางมูลนาก ซึ่งเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำน่านมายาวนานกว่าร้อยปี ก่อเป็นภาพอันสงบและงดงามยามได้ยล กำลังจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ภายใต้แนวคิดของคนในชุมชน นำโดยมูลนิธิแก้วคุ้มครอง ที่ต้องการสร้างบางมูลนากให้เป็นเมืองน่าอยู่เหมือนสมัย
ก่อน ด้วยการรื้อ ฟื้น คืนความทรงจำผ่านเรื่องราวสะท้อนอัตลักษณ์และความรุ่งเรือง
ในอดีต ไว้ตามพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นแลนด์มาร์กของชุมชน เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงรากเหง้าของตนเอง และผู้เฒ่าผู้แก่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ค่า ส่วนนักท่องเที่ยวก็อยากเดินทางมาเยือน
เพราะได้ซึมซับสิ่งที่มีคุณค่ากลับไป ดังเช่นการเดินทางมาเยือนครั้งนี้ แม้ปัจจุบันการมาเยือนบางมูลนากจะมีเส้นทางให้เลือกเดินทางสะดวกสบายหลายเส้นทาง แต่การนั่งรถไฟถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง
จากกรุงเทพฯ ที่สถานีหัวลำโพงมายังสถานีบางมูลนาก ราวๆ 6 ชั่วโมงกลับไม่น่าเบื่อ เพราะทุกคนมัวตื่นเต้นกับการย้อนเวลาด้วยขบวนรถไฟสายคลาสสิกนี้นั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อก้าวลงสถานีบางมูลนาก
ศูนย์กลางแห่งการค้าข้าวในยุคที่เคยเฟื่องฟูอย่างที่สุดมาก่อน ความทรงจำเกี่ยวกับอดีตอันพร่าเลือน จากจุดตั้งต้นที่สถานีรถไฟ ไปถึงพิพิธภัณฑ์ชาวบางมูลนากและตลาดฟื้นอดีตซึ่งเพิ่งฟื้นฟูเสร็จ
ก็ค่อยๆ แจ่มชัดขึ้นทีละน้อย

image
สถานีรถไฟ สายน้ำ และการค้าข้าว
ทันทีที่มาถึงสถานีบางมูลนาก สิ่งแรกสัมผัสได้เลยคือความเป็นระเบียบเรียบร้อยและบรรยากาศคล้ายกับเรากำลังเดินเข้าไปในห้องนิทรรศการว่าด้วยประวัติของสถานีตั้งแต่เริ่มสร้าง อันถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจบางมูลนากเฟื่องฟูอย่างสุดขีด
โดยก่อนจะมีการสร้างทางรถไฟสายเหนือและสถานีบางมูลนาก เมื่อปี พ.ศ.2450 การติดต่อค้าขายและไปมาหาสู่กันของผู้คนจะใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก เพราะบางมูลนากเป็นเมืองเก่าแก่ของจังหวัดพิจิตรที่มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน เช่นเดียวกับวิถีชีวิตและอาชีพก็ผูกพันกับสายน้ำอย่างแนบแน่น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทำนาและค้าข้าวส่งออกไปขายทั่วประเทศ ทำให้บริเวณริมน้ำนอกจากตลาดและบ้านเรือนแล้ว ยังมีท่าข้าวสำหรับขนส่งข้าวและโรงสีตั้งอยู่อย่างหนาแน่น เมื่ออาชีพทำนาค้าข้าวดีมีเงินเก็บ ชาวนาก็มักจะนำเงินไปซื้อทอง พอถึงหน้านาค่อยเอาออกมาขายเปลี่ยนเป็นเงินกลับไปปลูกข้าวใหม่ ร้านทองในตลาดบางมูลนากยุคนั้นจึงบูมมากๆ รวมถึงร้านค้าอื่นๆ ด้วย อาทิเช่น ร้านตัดเสื้อผ้า ร้านขายยา ร้านขายจักร ร้านโชห่วย เป็นต้น จนกระทั่งเส้นทางรถไฟสายเหนือตัดผ่านและมีการสร้างสถานีบางมูลนาก ชุมชนก็ยิ่งคึกคักกว่าเดิมหลายเท่า เพราะเกิดการขนส่งข้าวที่แผ่ขยายสู่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้ชาวนาขยายพื้นที่ปลูกข้าวไปยังริมทางรถไฟมากขึ้นด้วย โดยการค้าข้าวนี้มีคนจีนซึ่งอพยพมาทำงานก่อสร้างทางรถไฟแล้วปักหลักอยู่ที่นี่ถาวร เป็นเจ้าของโรงสีและคนกลางรับซื้อข้าว ดังนั้นหากใครเกิดทันยุคนั้นก็มักจะได้เห็นเรือบรรทุกข้าวล่องตามลำน้ำน่าน มาขึ้นบกที่สถานีบางมูลนากเนืองแน่นไม่ขาดสาย ทำให้สถานีแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวหลักของภาคเหนือตอนล่าง ก่อนจะซบเซาลงตามกาลเวลาและความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามา จนแทบไม่หลงเหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลังได้เห็น อย่างไรก็ตาม หลังชาวบางมูลนากมีแนวคิดที่จะรื้อ ฟื้น คืนความทรงจำให้กับชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่เคยรุ่งเรือง การปรับปรุงบรรยากาศภายในสถานีบางมูลนากใหม่ก็ปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง จนตอนนี้พร้อมให้ทุกคนไปย้อนรอยความทรงจำของสถานีอย่างเพลิดเพลินใจกันได้แล้ว
image
ศาลเจ้าพ่อแก้ว กับวิถีแห่งศรัทธา
จากสถานีรถไฟนั่งมอเตอร์ไซต์มากราบเจ้าพ่อแก้วที่ศาลเจ้าบนริมถนนใหญ่อาจไม่ไกลนัก แต่วิถีแห่งศรัทธาในเจ้าพ่อแก้วเดินทางมาไกลห่างทีเดียว
ศาลเจ้าพ่อแก้วเบื้องหน้าเป็นประจักษ์พยานยืนยันชัดเจนว่าการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือและสถานีบางมูลนาก ไม่เพียงนำความเจริญมาสู่ชุมชนแห่งนี้เท่านั้น แต่ยังส่งผลให้มีชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมาก ทั้งจีนแต้จิ๋ว จีนไหหลำ จีนแคะและจีนกวางตุ้ง เดินทางมาไกลเพื่อมาเป็นคนงานก่อสร้างทางรถไฟ แล้วตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่ถาวร จนเกิดการผสมผสานเชื้อชาติระหว่างคนไทยดั้งเดิมกับคนจีนโพ้นทะเล เป็นลูกหลานชาวบางมูลนากในปัจจุบัน พร้อมๆ กับมีการผ่องถ่ายมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกันในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะมิติของศรัทธา เพราะชาวจีนได้นำแนวความเชื่อความศรัทธาติดตัวมาด้วย โดยการสร้างศาลเจ้าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ก่อนอัญเชิญเจ้าพ่อแก้วซึ่งเล่ากันว่าเป็นท่อนไม้ลอยน้ำมา แล้วนำไปแกะสลักเป็นรูปเจ้าพ่อ มาตั้งไว้ที่ศาลเจ้าเพื่อกราบไหว้บูชา จากนั้นชาวบางมูลนากก็ซึมซับรับความศรัทธานี้สืบทอดกันมา ซึ่งศาลเจ้าพ่อแก้วแรกเริ่มตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับวัดบางมูลนาก ก่อนจะย้ายไปสร้างใหม่บนริมถนนใหญ่ให้อลังการยิ่งขึ้น ทำให้ศาลเจ้าพ่อแก้วหลังเก่าที่เคยเต็มไปด้วยสีสันแห่งศรัทธา ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างน่าใจหาย รวมถึงร้านรวงในตลาดบางมูลนากที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ก็ทรุดโทรมไม่แพ้กัน จนกระทั่งชุมชนมีแนวคิดเรื่องการสร้างบางมูลนากให้เป็นเมืองน่าอยู่ ศาลเจ้าพ่อแก้วหลังเก่าและตลาดบางมูลนากที่ทรุดโทรมนี้ จึงกลายเป็นหมุดหมายและแลนด์มาร์กสำคัญของการรื้อ ฟื้น คืนความทรงจำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เฉกเช่นสถานีรถไฟที่เพิ่งได้สัมผัสมา
image
พิพิธภัณฑ์ชาวบางมูลนากและตลาดฟื้นอดีต
กาลเวลาและความเจริญรุดหน้าสามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง มรดกอันทรงคุณค่าในอดีตของบางมูลนากก็เช่นเดียวกัน ซึ่งศาลเจ้าพ่อแก้วหลังเก่าและตลาดร้านค้าริมน้ำที่ตั้งอยู่เคียงข้างกันมาเกือบร้อยปี คงเป็นคำตอบได้ดี สาเหตุของความทรุดโทรม คณะทำงานมูลนิธิแก้วคุ้มครองเล่าว่า มาจากคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเห็นถึงความสำคัญของอาคารสถานที่เชิงประวัติศาสตร์เหล่านี้ ส่วนใหญ่ไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ แล้วไม่สนใจบ้านเกิดอีกเลย ส่วนคนรุ่นเก่าก็ใช้ชีวิตอย่างหงอยเหงา อาชีพดั้งเดิมถูกทอดทิ้ง และร้านค้าเก่าแก่หลายร้านค่อยๆ สูญหายตายจากไป ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่เหลียวแล บางมูลนากก็อาจไม่หลงเหลือรากเหง้าใดให้เรียนรู้ในวันข้างหน้าก็ได้ ดังนั้นหมุดหมายของการปรับปรุงศาลเจ้าพ่อแก้วหลังเก่า ตลาดบางมูลนากและบ้านเรือนริมน้ำมากมายที่เรียงรายอยู่ในย่านเดียวกัน ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชาวบางมูลนากและตลาดฟื้นอดีต จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ ทั้งในด้านของการคืนความมีชีวิตและเชื่อมโยงผู้คนแต่ละรุ่นเข้าหากัน โดยนอกจากจะมีการรื้อและปรับปรุงอาณาสถาปัตย์ ตลอดจนภูมิทัศน์ให้ร่มรื่นสวยงามแล้ว ยังมีการดึงเอาภาพศิลปะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนบางมูลนากในอดีตไปใส่ไว้ตามจุดต่างๆ ของพื้นที่ โดยเฉพาะมาสคอตรูปนาก สัญลักษณ์ของชุมชนที่เห็นปุ๊บก็จะนึกถึงบางมูลนากทันที และภาพวาดปกหนังสือหลากหลายบนประตูบ้านหลังต่างๆ ในบริเวณพิพิธภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการอ่านไปด้วย ทำให้ตลอดทางเดินของพิพิธภัณฑ์และตลาดเป็นสตรีตอาร์ตและถนนหนังสือที่ดึงดูดใจ ในเวลาเดียวกันก็มีการรวบรวมความทรงจำสมัยร้อยปีก่อนออกมาเป็นนิทรรศการทั้งแบบหมุนเวียนและถาวร เพื่อให้คนในชุมชนหรือนักท่องเที่ยวได้มาชื่นชมอย่างใกล้ชิด ยกตัวอย่าง นิทรรศการถุงกระดาษ ซึ่งสะท้อนถึงความเจริญของร้านค้าบางมูลนากในอดีตที่ทุกร้านจะมีถุงกระดาษเป็นของตนเอง เช่น ร้านเจริญอาภรณ์ ร้านเลิศศิลป์ ร้านเจนเทเลอร์ ร้านเรือใบโอสถ และร้านปรีชาสังฆภัณฑ์ หรือนิทรรศการบ้านพ้งล่ง ที่ฟื้นฟูบ้านของนายพ้งล่งแล้วจัดเป็นนิทรรศการถาวร เพื่อฉายภาพของร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้าเก่าแก่และมีชื่อเสียง ผ่านโต๊ะเก้าอี้ เครื่องใช้ไม้สอย และจานชามโบราณ เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มราแสง การมาเยือนบางมูลนากครั้งนี้ก็ใกล้สิ้นสุดลง แต่ดูเหมือนเจตจำนงค์และความมุ่งมั่นในการสร้างชุมชนของคนที่นี่ให้เป็นเมืองน่าอยู่กลับแรงกล้ายิ่งขึ้น จนน่าจะเป็นต้นแบบของการรื้อ ฟื้น คืนความทรงจำที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้กับเมืองอื่นๆ ได้ไม่น้อยเลย...

 -ข้อมูลอ้างอิง : บทความเรื่อง สถานีรถไฟกับชาวบางมูลนาก โดย กาญจนา ศิลกุล เหมือนเงิน, บทความเรื่อง ชุมชนบางมูลนาก วิถีแห่งสายน้ำ ข้าว และผู้คน โดยเขต เส็งพานิช และอภิสิทธิ์ ประวัติเมือง
-เครดิตภาพ : เฟซบุ๊ก บางมูลนากเมืองน่าอยู่
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้